วงออร์เคสตรา คือ วงศ์ดนตรีดุริยางค์ขนาดใหญ่ที่ประกอบด้วยเครื่องดนตรีประเภทต่างๆ อันได้แก่ เครื่องดนตรีประเภทเครื่องสาย เครื่องดนตรีประเภทเครื่องลมทองเหลือง เครื่องดนตรีประเภทเครื่องลมไม้ และเครื่องดนตรีประเภทเครื่องตี มีผู้เล่นเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีการแบ่งการประสมวงตามจำนวนผู้เล่นเป็น 2 แบบคือ
- วงแชมเบอร์ออร์เคสตรา ใช้เครื่องดนตรีประเภทเครื่องสายที่อยู่ในตระกูลไวโอลินในการเล่น มีผู้เล่น 16-20 คน
- วงซิมโฟนีออร์เคสตรา ใช้เครื่องดนตรีครบทุกประเภทในการเล่น แบ่งย่อยออกเป็นสามชนิด คือ วงขนาดเล็ก ผู้เล่น 40-60 คน วงขนาดกลาง ผู้เล่น 60-80 คน วงขนาดใหญ่ ผู้เล่น 80 คนขึ้นไป
ออร์เคสตรานั้นเป็นภาษาเยอรมันที่แปลความหมายได้ว่า สถานที่เต้นรำ กำเนิดขึ้นราวศตวรรษที่ 16 ที่มีความนิยมในการร้องโอเปร่า และใช้การเล่นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสายประกอบเสียงร้อง มีผู้เล่นราว 10-25 คน จากนั้นราวศตวรรษที่ 17 ได้เพิ่มเครื่องดนตรีประเภทเครื่องลมไม้เข้าไป แล้วจึงเพิ่มเครื่องดนตรีประเภทเครื่องลมทองเหลือง และเครื่องให้จังหวะต่าง ๆ ไปในภายหลัง เมื่อศตวรรษที่ 18 ออร์เคสตราเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น แม้กระทั่งเพลงที่เกี่ยวกับศาสนาก็ยังมีการนำออร์เคสตราเข้าไปใช้ ในยุคโรแมนติกมีการเพิ่มขนาดออร์เคสตราให้ใหญ่ขึ้นเพื่อแสดงอารมณ์ของบทเพลงให้เข้าถึงและยิ่งใหญ่ โดยมีผู้เล่นถึงกว่า 100 คน แต่หลังยุคสงครามโลกครั้งที่ 1 มีการลดขนาดวงลงเนื่องด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจหลายอย่าง และดำเนินมาถึงปัจจุบัน
บทเพลงที่ใช้บรรเลงในวงออร์เคสตรา
– ซิมโฟนี (Symphony)
เป็นบทเพลงอันไพเราะ สง่างาม และสามารถถ่ายทอดอารมณ์ได้ดี โดยปกติแล้วประกอบด้วยเนื้อเพลง 3-4 ท่อน ในแต่ละท่อนจะมีความช้าเร็วแตกต่างกันไป เช่น เร็ว ช้า เร็ว , หรือ เร็ว ปานกลาง เร็ว เป็นต้น นักประพันธ์เพลงซิมโฟนีที่เป็นที่นิยมคือ โมซาร์ทและไฮเดิน
– คอนแชร์โต (Concerto)
เป็นบทเพลงที่เกิดในยุคบาโรค บรรเลงโดยเครื่องดนตรีเดี่ยวเพื่อแสดงให้เห็นฝีมือของผู้บรรเลงและความงดงามของดนตรี รูปแบบจะคล้ายกับซิมโฟนีแต่มีสามท่อน คือ เร็ว ช้า เร็ว เพลงคอนแชร์โตที่เป็นที่นิยมคือการใช้เปียโนและไวโอลินในการบรรเลงแบบเดี่ยว
– โอเปรา (Opera)
เป็นบทเพลงละครร้องที่เน้นการร้องในการดำเนินเรื่องแล้วใช้ออร์เคสตราในการบรรเลงประกอบ โอเปราแบ่งเป็นสองแบบ คือ โอเปราซีเรีย จะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับชนชั้นสูง เน้นเนื้อหาเกี่ยวกับดราม่า ความรัก อีกแบบหนึ่งคือโอเปร่าชวนหัว เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับประชาชนคนทั่วไปที่มีการดำเนินเรื่องรวดเร็ว เน้นแนวสนุกตลกขบขัน
– ซิมโฟนิคโพเอม (Simphonic poem)
เป็นบทเพลงที่ใช้เสียงดนตรีเล่าเรื่องราวและถ่ายทอดอารมณ์ของผู้ประพันธ์ อาจเป็นการบรรยายจากภาพเลียนเสียงธรรมชาติ เช่น เสียงนกร้อง เสียงน้ำตก เป็นต้น
– บัลเลต์ (Ballet)
เป็นการดำเนินเรื่องโดยใช้ลีลาท่าทางของร่างกายในการเต้นดำเนินเรื่อง แล้วใช้โอเปร่าบรรเลงประกอบ ไม่มีบทร้อง ดังนั้นการประดิษฐ์ท่าทางให้เข้ากับเนื้อหาและสิ่งที่จะสื่อมีความสำคัญมากเพื่อให้ผู้รับฟังรับรู้ถึงอารมณ์ที่ผู้แสดงต้องการถ่ายทอดได้