ฟรันซ์ โยเซ็ฟ ไฮเดิน (เยอรมัน: Franz Joseph Haydn) เป็นคีตกวีชาวออสเตรียในยุคคลาสสิก เกิดเมื่อวันที่ 31 มีนาคม ค.ศ. 1732 และสิ้นชีวิตเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม ค.ศ. 1809 และด้วยความที่เป็นคีตกวีในความดูแลของราชสำนัก จึงได้ประพันธ์บทเพลงไว้มากมาย ได้รับการยกย่องให้เป็น บิดาแห่งซิมโฟนี และ บิดาแห่งสตริงควอเต็ต
ฟรันซ์ โยเซ็ฟ ไฮเดิน เป็นพี่ของโยฮันน์ มิคาเอล ไฮเดิน (Johann Michael Haydn) คีตกวีคนสำคัญอีกท่านหนึ่งของออสเตรียนั่นเอง
โยเซ็ฟ ไฮเดิน เกิดในหมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในเมืองโรเรา ประเทศออสเตรีย มีพรมแดนใกล้กับประเทศฮังการี เป็นบุตรคนที่ 2 จากทั้งหมด 12 คน คุณพ่อชื่อว่ามาทีอัส ไฮเดิน มีอาชีพเป็นช่างทำรถเทียมม้า คุณแม่ชื่อว่า มาเรีย มีอาชีพเป็นแม่ครัว อยู่ในบ้านของคหบดีผู้ครองเมืองโรเรา คุณพ่อของโยเซ็ฟ เป็นนักดนตรีพื้นบ้านที่บรรเลงเพลงได้ไพเราะมาก แต่คุณพ่อและคุณแม่ของโยเซ็ฟ ไม่มีความรู้เรื่องตัวโน๊ตเลย แต่เกิดจากการเรียนรู้ ฮาร์ป ด้วยตัวเอง เขาเติบโตมากับครอบครัวนักดนตรีอย่างแท้จริง
เมื่อไฮเดินอายุได้ 6 ขวบ ได้ถูก โยฮันน์ มาทีอัส ฟรังค์ (Johann Mathias Frank) นักดนตรีผู้ยิ่งใหญ่และเป็นครูสอนดนตรีที่มีชื่อเสียงแห่งเมืองไฮน์บูร์ก (Hainburg) และเป็นญาติห่าง ๆ กับบิดา ได้นำไฮเดินไปอุปการะ ชีวิตในบ้านของฟรังค์ ทำให้ไฮเดินต้องตกระกำลำบากกับความหิว และสวมใส่เสื้อผ้าที่สกปรกตลอดเวลาซึ่งสร้างความอับอายให้เขามาก แต่เขาก็อดทนอยู่เพื่อเริ่มเรียนดนตรี ไฮเดินสามารถเล่นฮาร์ปซิคอร์ดและไวโอลินได้ที่นี่เอง
ในปี ค.ศ. 1740 ไฮเดินอายุได้ 8 ขวบ ได้ไปอยู่กับคณะขับร้องประสานเสียงของ เกออร์ก ฟอน ร็อยท์เทอร์ (Georg von Reutter) ผู้อำนวยการดนตรีของมหาวิหารเซนต์สตีเฟนในเมืองเวียนนา แต่ก็ยังมีชีวิตที่ลำบากไม่ต่างกันกับอยู่กับฟรังค์ ไฮเดิน เขาได้เรียนรู้และสังเกต นักดนตรีระดับมืออาชีพ จากมหาวิหารเซนต์สตีเฟน ทำให้เขาเติบโตเป็นนักดนตรีอาชีพที่มีความสามารถในที่สุด
ต่อมาในปี 1749 เมื่อไฮเดินอายุ 17 ปี เขาเอากรรไกรที่ซ่อนไว้มาตัดหางเปียเพื่อน ไฮเดินจึงต้องออกจากมหาวิหารเซนต์สตีเฟน และถูกไล่ออกจากวง ทำให้กลายเป็นคนพเนจรไม่มีบ้านอยู่ มีชีวิตที่ลำบาก ความเป็นอยู่แร้นแค้น แต่ยังโชคดีที่ได้รับความเชื่อเหลือจากโยฮันน์ มิคาเอล สปางเลอร์ (Johann Michael Spangler) โดยให้อาศัยอยู่ที่ห้องใต้หลังคา เขาเริ่มหาเลี้ยงชีพด้วยการเป็นนักดนตรีพเนจร ทั้งครูสอนดนตรี, นักดนตรีร่วมบรรเลงกับนักดนตรีริมถนนยามค่ำคืน, งานเต้นรำและงานพิธีฝังศพเป็นครั้งคราว โดยเป็นนักร้องบ้าง นักดนตรีบ้าง ได้เงินวันละ 2 ถึง 3 ฟลอรินส์ พอจะเลี้ยงปากเลี้ยงท้องไปวันหนึ่ง ๆ
เขาได้แต่งเซเรเนดสำหรับบรรเลงในวง เพลงแรกของไฮเดิน นิโคล่า พอร์พอร่า ได้สอนให้ไฮเดินประพันธ์เพลง เรียนดนตรีทั้งทางทฤษฎีและทางปฏิบัติ และแนะนำให้เขารู้จักกับแวดวงสังคมชั้นสูงด้วย เขาเริ่มศึกษาหลักการแต่งเพลงจากหนังสือ Gradus ad Parnassum ของโยฮันน์ โยเซ็ฟ ฟุกซ์ และศึกษาผลงานของคาร์ล ฟิลิป เอ็มมานูเอล บาค ซึ่งเขาได้ถือว่าเป็นแนวทางสำคัญของการแต่งเพลงของเขา มาตลอด
เคาท์เทส ธุน (Countess Thun) ได้ฟังบทประพันธ์ของไฮเดินเพลงหนึ่งแล้วประทับใจมาก จึงได้ว่าจ้างให้มาเป็นครูสอนร้องเพลงและคีย์บอร์ดส่วนตัวของเธอ และบารอน คาร์ล โยเซ็ฟ ฟูร์นแบร์ก ( Carl Josef Fürnberg) ได้ว่าจ้างไฮเดิน ด้วยเช่นกัน และให้มาอยู่ที่ Weinzierl คฤหาสน์ในชนบทของเขา ที่นี่เขาได้ประพันธ์บทเพลงควอเต็ตบทแรก ๆหลังจากนั้น ฟูร์นแบร์กได้แนะนำให้ไฮเดินรู้จักกับ เคานต์ ฟอน มอร์ซิน และในปี 1757 เคานต์ ฟอน มอร์ซิน ได้จ้างไฮเดินที่เมือง Lukavec ซึ่งเป็นการทำงานเต็มเวลาครั้งแรกของเขา
เคานต์ ฟอน มอร์ซิน คือ Kapellmeister หมายถึงผู้กำกับดนตรี (มาจากภาษาเยอรมัน) เขาเป็นคนคุมวงดุริยางค์เล็ก ๆ วงหนึ่ง และที่นี่ไฮเดินได้ประพันธ์ซิมโฟนีบทแรก ในกุญแจเสียงดี เมเจอร์ ด้วยวัยเพียง 27 ปี พอดี เพื่อใช้ในการบรรเลงของวงนี้ ซึ่งเป็นผลงานซิมโฟนีชิ้นแรกของโลก ทำให้ไฮเดินได้รับการยกย่องว่าเป็น”บิดาแห่งซิมโฟนี” (เพราะก่อนหน้านี้ คำว่าซิมโฟนีไม่เคยปรากฏในโลกของดนตรีเลย)
จากนั้นในปี 1760 เขาได้แต่งงานกับพี่สาวของหญิงคนรัก จากการแนะนำของบิดาของภรรยา มีชื่อว่ามาเรีย อานนา เคลเลอร์ (Maria Anna Aloysia Apollonia Keller (1729–1800)) และต้องแยกทางกันโดยไม่มีบุตรด้วยกัน ด้วยนิสัยที่เข้ากันไม่ได้ และเขาได้ประพันธ์ซิมโฟนีหมายเลข 2 ในกุญแจเสียงซี เมเจอร์ขึ้น
ในปี 1761 เคานต์ ฟอน มอร์ซิน ได้เลิกวงดนตรี และไฮเดินได้ตำแหน่งเป็นผู้ช่วยหัวหน้าวงในครอบครัวคหบดีที่ร่ำรวยที่สุดครอบครัวหนึ่งในยุโรป คือครอบครัวของเจ้าชายปอล อันโทน เอสเตอร์ฮาซี (Paul Anton Esterházy)แห่งฮังการีในพระราชวัง Schloss Esterházy เมือง Eisenstadt อยู่นอกกรุงเวียนนา 30 ไมล์ อันเป็นของตระกูลเจ้านายชั้นสูงรองจากกษัตริย์ในสมัยนั้น และราวทศวรรษที่ 1760 ไฮเดินได้ทำงานในตำแหน่งหัวหน้าวง เพราะหัวหน้าวงคนเดิมเสียชีวิตไป เขาทำงานนานถึงสามสิบปี เป็นทั้งนักประพันธ์ ผู้ควบคุมวงดุริยางค์ บรรเลงเชมเบอร์มิวสิค (chamber music)ร่วมกับผู้อุปการะ และสุดท้ายคือการควบคุมวงอุปรากร
ในปี 1795 เขาได้กลับมาตั้งรกรากในบ้านหลังใหญ่หลังหนึ่งบริเวณชานเมือง Gumpendorf ของกรุงเวียนนา และ ในปี 1802 ไฮเดินต้องหยุดการประพันธ์ผลงานเพลงเนื่องด้วยความเหนื่อยล้าและป่วยหนัก เพราะตรากตรำทำงานหนักมากเกินไปในช่วงชีวิตที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม ปี 1809 อาการป่วยได้คุกคามจนต้องล้มหมอนนอนเสื่อ และเขาได้เล่นเปียโนเป็นครั้งสุดท้ายด้วยการขอร้องให้พยุงมาเพื่อเล่น เขาเล่นเพลง Gott erhalte Franz den Kaiser ที่เขาประพันธ์ด้วยตัวเองตั้งแต่ปี 1797 เพื่อแสดงถึงความรักชาติ[27]และเป็นเกียรติแก่จักรพรรดิฟร้านซ์ ที่ 2 (Emperor Franz II)เนื่องในวันพระราชสมภพ[28] และทำนองของเพลงนี้ ได้กลายมาเป็นเพลงชาติของออสเตรีย